ปวดข้อ ข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
โรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม ที่กล่าวถึงกันอยู่เป็นประจำในความหมายของคนทั่วไป หมายถึง ภาวะที่ข้อเกิดความผิดปกติเนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบบถดถอย ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอายุที่มากขึ้น เรียกว่าข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ ถ้าหากว่า โรคข้อเข่าเสื่อมมีสาเหตุที่ผิดปกติที่เกิดกับข้อเข่ามาก่อน เช่น การอักเสบของข้อเข่าจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อ ไขข้ออักเสบ กระดูกหัก เป็นต้น แล้วทำให้ในเวลาต่อมาผิวข้อผิดปกติ และเกิดข้อเสื่อมตามมา ข้อเสื่อมชนิดนี้เรียกว่าข้อเสื่อมทุติยภูมิ พบได้ประปรายในผู้ป่วยทุกอายุ แต่โดยรวมพบได้ไม่บ่อยเท่าข้อเสื่อมชนิดแรก
โรคข้อเสื่อมที่เกิดกับข้อเข่าเป็นโรคข้อเข่าที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี แต่มักพบบ่อยเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี เราจะเข้าใจการเกิดโรคนี้จากภาวะสูงอายุได้ง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของการเหี่ยวย่นของผิวหนังกับข้อเข่าของผู้สูงอายุ โดยเมื่ออายุน้อย ผิวหนังมีความเต่งตึงเช่นเดียวกับผิวข้อที่มีผิวเรียบ มัน วาว แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่นขึ้น เช่นเดียวกับการเสื่อมสภาพของผิวข้อ (รวมถึงเยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นรอบข้อ และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ) เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นด้วย และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อไม่เป็นปกติ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงความผิดปกติภายในข้อ อันประกอบด้วย
ผิวของข้อเข่า ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน เริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ การเคลื่อนไหวข้อ มีอาการติดขัด ฝืด หรือเสียงดังคล้ายกระดาษทรายถูกัน
การกระจายการรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อ เริ่มผิดปกติ บางบริเวณมากขึ้น บางบริเวณน้อยลง ทำให้การรับน้ำหนักผิดปกติ มีอาการปวดเสียว
เยื่อหุ้มข้อ ถูกระคายเคือง เกิดการอักเสบ และสร้างน้ำในข้อมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้ออุ่น
กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า มีความแข็งแรงน้อยลง แรงกระแทกจึงเกิดกับผิวข้อมากขึ้น
เอ็นยึดข้อ บางส่วนหย่อนยานขึ้น ทำให้ข้อแกว่ง หรือหลวมมากขึ้น เพิ่มการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติมากขึ้น
แนวแกนขา เริ่มผิดปกติ จากน้ำหนักที่มากขึ้น ร่วมกับเอ็นยึดข้อที่หย่อนยานขึ้น ทำให้เข่าดูโก่ง หรือดูขาเก
กระดูกรอบข้อเกิดการปรับตัว โดยสร้างกระดูกงอกขึ้นภายในข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง กระดูกบริเวณข้อเข่า และรอบ ๆ ข้อ บางลง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินน้อยลง
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยวัยสูงอายุ เนื่องจากกระดูกอ่อน เอ็น และเนื้อเยื่อ ต่างๆมีการเสื่อมและสึกหรอไปตามอายุขัย ยิ่งเป็นผู้ที่ทำงานหนัก รูปร่างอ้วน น้ำหนักตัวมาก มักมีอาการปวดเข่าอยู่เป็นประจำบางครั้งจะได้ยินเสียงดังกึกๆ ข้อเข่าก็จะยิ่งเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป บางรายที่เป็นเรื้อรังมานาน มีหินปูนมาเกาะ ทำให้ข้อเข่าเสียรูปทรงจะเห็นขาโก่งออกได้อย่างชัดเจน
การรักษา
การฝังเข็มสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ โดยอาศัยฤทธิ์รักษากระตุ้น ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ลดอาการอักเสบ ระงับความเจ็บปวด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด คลายการหดเกร็งและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงยิ่งขึ้น
แม้ว่าการฝังเข็มจะไม่สามารถทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมสึกหรอไปกลับคืนมาได้เป็นปกติเหมือนเดิม แต่มันสามารถชะลอให้ข้อเข่าเสื่อมช้าลง ในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งแพทย์แนะนำให้ผ่าตัดรักษาแล้วนั้น พบว่า 70 – 80 % ของผู้ป่วยก็ยังสามารถมีอาการดีขึ้นได้หลังจากการฝังเข็ม ดังนั้นผู้ป่วยที่ไม่พร้อมที่จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด การฝังเข็มจะเป็นทางเลือกที่ดีและมีประโยชน์มากทีเดียว