การเตรียมตัวมาฝังเข็ม

เวชกรรมฝังเข็ม สำหรับคนไทยแล้ว ยังนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ ดังนั้นเมื่อจะไปรักษา ย่อมมีความกังวลใจ จึงทำให้การรักษาบางครั้งไม่ราบรื่น ผลการรักษาจึงอาจไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น

ผู้ป่วยก็ควรต้องมีการเตรียมตัวด้วย

1.เตรียมใจไปรักษา ผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีอาการปวดหลังเรื้อรังมานานหลายปี ตะเวนไปรักษากินยาสารพัด แต่อาการไม่ทุเลา บังเอิญมาคุยเรื่องฝังเข็ม และพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เมื่อแพทย์ทำการรักษาด้วยการฝังเข็ม แต่ผู้ป่วยกลัวเจ็บมาก ขณะที่นอนบนเตียง แพทย์จะลงมือปักเข็มผู้ป่วยก็ร้องเสียงดังลั่น ด้วยความกลัว กล้ามเนื้อเกร็งไปหมด

ทั้งตัว จนกระทั่งแพทย์หมดปัญญาที่จะปักเข็มได้ สุดท้ายจึงต้องยกเลิกการรักษาไป

2.สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม ในการฝังเข็ม ตำแหน่งจุดปักเข็มบางครั้ง จะอยู่บริเวณใต้ร่มผ้า ผู้ป่วยจึงควรสวมใส่เสื้อผ้า ที่เป็นชุดแยกส่วนระหว่างเสื้อ กับกระโปรงหรือกางเกง เสื้อผ้าที่สวมใส่ ไม่ควรรัดแน่นเกินไป จะทำให้แพทย์ปักเข็ม ได้สะดวกง่ายดายขึ้น

3.รับประทานอาหาร ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหาร มากจนเกินไป หากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มมาใหม่ ๆ หรือ

รับประทานมากเกินไป อาหารยังคงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารมาก เมื่อมาฝังเข็ม ซึ่งต้องนอนเป็นเวลานาน ๆ ถึง 30 นาที อาจทำให้รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะในท่านอนคว่ำ ผู้ป่วยอาจทนไม่ได้ ตรงกันข้าม ไม่ควรมารักษาในขณะที่กำลังหิวจัด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ได้เมื่อได้รับการกระตุ้นเข็ม ทั้งนี้เพราะว่า ร่างกายอาจขาดพลังงานที่จะเอามาใช้เผาผลาญ ในขณะที่ระบบประสาท และฮอร์โมนกำลังถูกกระตุ้นจากการฝังเข็ม

4.ทำความสะอาดร่างกาย การฝังเข็ม เป็นหัตถการ ที่ต้องใช้วัตถุแหลมคมปักผ่านผิวหนัง

ลงไปในร่างกาย ผู้ป่วย จึงควรมีสภาพร่างกายที่สะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรค ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออย่างน้อย ก็อย่าให้ส่วนของร่างกายบริเวณที่ต้องปักเข็มนั้น สกปรกจนเกินไป ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว สตรีที่กำลังมีประจำเดือน สามารถปักเข็มรักษาได้ โดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด การที่ไม่นิยมฝังเข็ม ในช่วงนี้ คงเป็นเรื่องของ ความกระดากอายมากกว่า

5.สงบกายและใจในขณะรักษา เมื่อแพทย์ปักเข็มลงบนผิวหนัง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับถูกมดกัด เมื่อแพทย์เริ่มทำการกระตุ้นหมุนเข็ม ก็จะรู้ตื้อ ๆ หรือหน่วง ๆ เล็กน้อย ในบางครั้ง ความรู้สึกดังกล่าว จะแผ่ออกไปตามแนวเส้นลมปราณ ความรู้สึกเช่นนี้ จะเกิดผลการรักษาได้ดีเสมอในกรณีที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็ม มีการเต้นกระตุกเบา ๆ เป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้น ขณะที่มีเข็มปักอยู่นั้นควรนั่งหรือนอนนิ่ง ๆ ไม่ควรขยับเคลื่อนไหวส่วนของร่างกาย ที่มีเข็มปักคาอยู่เพราะอาจจะทำให้ เข็มงอหรือหักคาเนื้อได้ แต่ร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีเข็มปักอยู่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้

ตามสบาย ในระหว่างที่ปักเข็มกระตุ้นอยู่นั้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกง่วงนอน เนื่องจาก การฝังเข็มสามารถกระตุ้นให้ร่างกาย มีการหลั่ง สารเอนดอร์ฟีน (endorphins) เกิดขึ้นสารนี้มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยกล่อมประสาทให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม เมื่อรักษาไปหลาย ๆ ครั้ง ผู้ป่วยบางคน จะพบว่าตนเองนอนหลับได้ง่ายขึ้นหรือหลับสนิทขึ้น และจิตใจก็จะสดชื่นแจ่มใสมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย จากการสำรวจพบว่า มีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย ที่ไปฝังเข็ม ด้วยเหตุผลเพื่อกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้สดชื่น ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคอะไรเลย

6.การปฎิบัติตัวหลังการรักษา หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษอะไรเลย ผู้ป่วยสามารถขับรถ หรือกลับไปทำงานได้ทันที สามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ

7.การรักษาอื่น ๆ ร่วมกับการฝังเข็ม ผู้ป่วยที่มาฝังเข็ม อาจมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งจะต้องมียาที่รับประทานประจำอยู่ โดยปกติแล้ว การรักษาด้วยการฝังเข็ม สามารถรับประทานยา หรือใช้การรักษาอื่น ๆ ร่วมไปด้วยได้ โดยไม่มีข้อห้ามใด ๆ 

8.ข้อห้ามและข้อควรระวัง

- ผู้ป่วยที่ตื่นเต้นหวาดกลัว ต่อการรักษามากเกินไป ควบคุมจิตใจตนเองไม่ได้

- ผู้ป่วยที่เหน็ดเหนื่อย หลังจากการออกกำลังกาย อย่างหนักมา

- สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอด เพราะว่าผู้ป่วยมักจะไม่สามารถทนนอน

  หรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ ได้ การนอนหงายจะทำให้มดลูกและทารกในครรภ์ กดทับ

  หลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องได้

- ผู้ป่วยที่มีเลือดออก แล้วหยุดยาก เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น

- ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (pacemaker) ติดอยู่ในร่างกายห้ามรักษา

  โดยเครื่องกระตุ้นเข็ม ด้วยไฟฟ้า เพราะอาจรบกวนการทำงานของเครื่อง ทำให้หัวใจเต้น

  ผิดจังหวะจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ อย่างไรก็ตามในกรณีเช่นนี้ ยังคงสามารถปักเข็ม

  กระตุ้น โดยวิธีการหมุนปั่นด้วยมือได้

Visitors: 104,067