ฝังเข็ม รักษาฝ้า

พิสูจน์แล้ว...ให้ผลดีกว่ายา พญ.สายชลี ทาบโลกา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิจัยเรื่องการศึกษา ประสิทธิผลของรักษาฝ้าด้วยการฝังเข็ม เปรียบเทียบกับยาไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) 3%

ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงวัยกลางคน และผู้ชายเองเกือบทุกเชื้อชาติ ต่างประสบปัญหาฝ้า(Melasma) ต้นกำเนิดไม่มีข้อมูลแน่ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ ที่สังเคราะห์เม็ดสีในชั้นหนังกำพร้าโดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลตเอ บี 

ซึ่งผู้หญิงไทยจะประสบปัญหาฝ้า มากกว่าหญิงประเทศอื่น ๆ ด้วยไทย เป็นประเทศที่แสงแดดเกือบตลอดทั้งปี

ฝ้าที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้า เป็นความผิดปกติของสีผิว เนื่องจากเม็ดสีเมลานินมีปริมาณเพิ่มขึ้น จะพบเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลเข้ม กระจายบนใบหน้าที่พบบ่อยคือ แก้มทั้ง 2 ข้าง หน้าผาก บริเวณเหนือ ริมฝีปาก จมูก และคางไม่สามารถหายได้เอง และจะเข้มขึ้นถ้าไม่รักษา ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ บั่นทอนสภาพจิตใจ ขณะที่การรักษาก็ยังไม่มีวิธีการใด ที่ได้ผลที่ดีที่สุด และยังมีผลข้างเคียง ปัจจุบันแพทย์โรคผิวหนังจะใช้หลายวิธี โดยมักแนะนำให้หลีกเลี่ยงสาเหตุการเกิดฝ้า กับใช้ยากันแดด หรือใช้ยาลอกหน้า ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้ยาไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) 3% เพื่อเปรียบเทียบกับ การฝังเข็ม

พญ.สายชลี กล่าวต่อว่า การฝังเข็มใช้หลัการแพทย์แผนจีน ฝังตามผิวหนังเพื่อป้องกันและรักษาโรค โดยใช้เข็มปักลงให้ลึกพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกได้ลมปราณ โดยผู้ที่มารักษาฝ้าจะรู้สึกตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือเสียวบริเวณที่ถูกเข็มปักและใช้การปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านเข็มเข้าสู่ร่างกาย ช่วยกระตุ้นเข็มปรับสมดุลการทำงานของร่างกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และลมปราณซึ่งแนวทางการฝังเข็มเพื่อรักษาฝ้า เป็นทางเลือกน่าสนใจ ในผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยา

จากการทดสอบใช้การฝังเข็มรักษาฝ้า ในอาสาสมัครหญิงอายุ 35-55 ปี 56 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 28 คน กลุ่มแรกให้ทายาประเภทไฮโดรควินิน 3% ซึ่งเป็นการรักษาตามแผนปัจจุบัน กลุ่มที่ 2 ใช้การฝังเข็มบริเวณร่างกาย และใบหน้า สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์

จากการติดตามผลทุก ๆ 2 สัปดาห์พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ฝ้าบนใบหน้าของอาสาสมัครกลุ่มฝังเข็ม เริ่มจางลง และเมื่อครบ 6 สัปดาห์ หญิงที่ปริมาณฝ้าไม่มาก หายได้สมบูรณ์แบบ ขณะที่อาสาสมัครที่เป็นฝ้าลึก และเป็นมานานก็จางลงอย่างชัดเจน ส่วนผลข้างเคียงจากการฝังเข็มคือ รอยช้ำของเข็มเล็กน้อยซึ่งหายได้เองในวันต่อมา

ผลวิจัยพบว่า ในกลุ่มฝังเข็มพอใจมากกว่า นอกจากนี้ กลุ่มฝังเข็ม ยังมีสุขภาพด้านอื่นดีขึ้น

อีกด้วย การศึกษานี้สรุปได้ว่า การฝังเข็มเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาฝ้าที่มีประสิทธิผลดี ทำให้ฝ้าจางลง ผลการรักษายังคงอยู่นานกว่ากลุ่มใช้ยา ลดการเป็นซ้ำ ความพึงพอใจในการรักษาดีกว่าการใช้ยา

การฝังเข็มเพื่อรักษาฝ้า เราจะฝังเข็มบริเวณที่เป็นฝ้าเลย เช่น ถ้าฝ้าเป็นปื้นๆ เป็นแผ่น เราก็จะรักษาด้วยการฝังไปที่รอบแผ่นฝ้า นอกจากนี้อาจต้องฝังตำแหน่งอื่นร่วมด้วย เช่น ฝังที่แขน ขา ร่วมด้วย เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น การรักษาฝ้าก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งการรักษาฝ้าทำเพียง 2-3 ครั้ง ก็เริ่มเห็นผลแล้วว่าฝ้าจางลง ดังนั้นบางคนทำสัก 5-6 ครั้ง ฝ้าก็หายหมด แต่บางคนอาจต้องทำถึง 10 ครั้งฝ้าถึงจะหายได้

ถามว่า ฝ้าจะหายถาวรมั้ย อันนี้ต้องแล้วแต่การดูแลตัวเองของคนไข้ รวมถึงระยะเวลาที่เป็นฝ้าด้วย เช่น คนที่เป็นมานานแล้ว หรือเป็นเรื้อรัง การรักษาจะยากกว่าคนที่เพิ่งเป็น นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วยว่า ฝ้านั้นเกิดจากอะไร เช่น หากเกิดจากกรรมพันธุ์ ฝ้าก็อาจจะขึ้นมาอีกได้ แต่ถ้าเป็นฝ้าที่เกิดจากแดด หากคนไข้ดูแลตัวเองดี ทาครีมกันแดดบ่อย ๆ เลี่ยงแดดได้ ฝ้าก็อาจจะหายแล้วหายเลย ไม่กลับมาเป็นอีก

กรณีศึกษา

ประวัติการเจ็บป่วย ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้หญิงอายุ 42 ปี ใบหน้าของผู้ป่วย มีฝ้าอยู่เต็มบริเวณข้างจมูกทั้งสองข้าง ไปถึงโหนกแก้ม คล้ายรูปผีเสื้อ ฝ้ามีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนและเข้มสลับกัน ไม่มีสีดำ ฝ้ามีลักษณะแห้ง ๆ ไม่ชื้น

จากการตรวจร่างกาย พบว่าผู้ป่วยเป็นคนรูปร่างปานกลาง ผิวพรรณไม่ซูบซีดบนใบหน้ามีฝ้าอยู่ เต็มใบหน้าทั้งสองข้าง จากข้างจมูกจนถึงโหนกแก้ม

จากการซักประวัติ ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าได้รักษาฝ้ามานาน หลายปีแล้ว ทั้งจากแพทย์ผิวหนัง และเครื่องสำอางราคาแพงต่าง ๆ แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงหันมาลองเปลี่ยนวิธี รักษาใหม่เป็นการฝังเข็ม

การรักษา หลังจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยรายนี้โดยการไปปรับการทำงานของตับ ปอดและลำไส้ใหญ่ โดยการฝังเข็มตามตัวร่วมกับฝังเข็มหู โดยจุดที่ลงเข็มเป็นจุดบนเส้นลมปราณ ตามแขนขา ลำตัว ร่วมกับจุดต่าง ๆ บนใบหน้าด้วย ได้รักษาเป็นจำนวน 12 ครั้ง โดยลงเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ผลการรักษา ฝ้าบนใบหน้าของผู้ป่วยรายนี้จางลงมาก ต่างจากที่พบครั้งแรกและผู้ป่วย สามารถขับถ่ายได้ดีขึ้นจากการถ่ายสัปดาห์ละ 2 ครั้งมาเป็น 5 ครั้ง โดยไม่ต้องทานยาถ่ายช่วยเลย ซึ่งผู้ป่วยพอใจผลการรักษาอย่างมาก

Visitors: 104,298